X

จดทะเบียนพาณิชย์ จำเป็นหรือไม่สำหรับการขายของออนไลน์

ขายของออนไลน์ต้อง จดทะเบียนพาณิชย์ หรือไม่คำถามนี้เป็นความถามที่พ่อค้าแม่ค้าหลายๆคนยังคงมีข้อสงสัย และไม่แน่ใจกันอยู่ไม่น้อย ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้านั้นก็ได้ประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2553 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์นั้นรูปแบบการค้าขายออนไลน์ที่จะต้องจดทะเบียนนั้นจะต้องเป็น บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในประเทศไทยซึ่งประกอบพาณิชยกิจในเชิงพาณิชย์ โดยมีการซื้อขายสินค้า/บริการต่างๆผ่านทางออนไลน์ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบ เว็บไซต์ หรือ ร้านค้าใน Social Media (Facebook, Instagram) จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์

จดทะเบียนพาณิชย์ สำหรับร้านค้าออนไลน์ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ สร้างความน่าเชื่อถือให้กับร้านค้า และสามารถขอรับเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียน DBD Registered และเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ DBD Verified จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้

จดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่ไหน

การจะจดทะเบียนนั้นจะต้องจดทะเบียนตามสถานที่ตั้งของสถานประกอบการหรือร้านค้า

ถ้าร้านค้ามีสถานที่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สามารถยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่สำนักงานเขตหรือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรุงเทพมหานคร

ถ้าร้านค้ามีสถานที่ตั้งอยู่ที่ต่างจังหวัด สามารถยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ในท้องที่ที่ร้านค้าตั้งอยู่

จะต้องใช้เอกสารอะไรในการจดทะเบียน

  1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบพาณิชยกิจ
  2. แบบคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.)
  3. เอกสารประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (เอกสารแนบแบบ ทพ.)
  4. Print หน้าแรกของร้านค้าออนไลน์ สินค้า/บริการที่ประกอบพาณิชยกิจ และวิธีการสั่งซื้อสินค้า/ บริการ วิธีการชำระเงิน วิธีการส่งสินค้า
  5. วาดแผนที่ตั้งการประกอบพาณิชยกิจ
  6. หนังสือรับรองการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท (กรณีจดในนามนิติบุคคล)
  7. หนังสือมอบอำนาจพร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท และสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจ)

ถ้าผู้ประกอบพาณิชยกิจไม่ได้เป็นเจ้าบ้าน

ในกรณีที่พ่อค้าแม่ค้านั้นไม่ได้เป็นเจ้าของสถานที่ตั้งของร้านค้านั้นจะต้องทำการยื่นเอกสารเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

  1. หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่หรือสัญญาเช่า และ
  2. สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของสถานที่ พร้อมสำเนาทะเบียนบ้าน หรือเอกสารสิทธิ์ที่แสดงว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

ถ้าเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ เข้ามาตั้งสาขาดำเนินกิจการในประเทศไทย

ถ้าเป็นกรณีที่นิติบุคคลต่างประเทศ เข้ามาตั้งสาขาดำเนินกิจการในประเทศไทยนั้นจะต้องให้แนบเอกสารเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

  1. สำเนาเอกสารแสดงการจดทะเบียนนิติบุคคล
  2. หนังสือแต่งตั้งผู้ดำเนินกิจการในประเทศไทย
    1. ใบอนุญาตทำงาน (กรณีผู้ดำเนินกิจการเป็นคนต่างด้าว)
    2. ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือหนังสือรับรองการใช้สิทธิ (ถ้ามี)

สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

Admin:
Related Post

This website uses cookies.